Street Photo Thailand HOME PHOTOGRAPHERS LEGENDS NEWS ARTICLES FEATURED PROJECTS SUBMISSION SPTEP ABOUT CONTACT
Elliott Erwitt ช่างภาพผู้มากด้วยอารมณ์ขัน
Posted by Akkara Naktamna - Aug 29, 2012 11:02
จำได้ว่าเมื่อหลายๆปีก่อนผมไปเดินพารากอนแล้วบังเอิญได้ไปเปิดหนังสือภาพถ่ายของช่างภาพคนหนึ่งซึ่งภาพถ่ายแต่ละใบของเขาทำให้ผมหัวเราะออกมาจนคนแถวนั้นถึงกับเหลียวมามองจากวันนั้นผมก็ยึดการถ่ายภาพของคนผู้นี้เป็นแบบอย่างเสมอมา ช่างภาพที่มีอารมณ์ขันอันร้ายกาจคนนั้นคือ Elliott Erwitt (แอลเลียต เออร์วิตต์)

 
ชื่อเดิมของ Elliot Erwitt (July 26, 1928 – November 29, 2023) คือ Elio Romano Erwitz เกิดที่ฝรั่งเศสเมื่อ 26 ก.ค. 1928 เป็นบุตรชายคนเดียวของ émigrés ผู้เป็นพ่อที่ต้องหลบหนีจากความวุ่นวายในการปฏิวัติรัสเซียเมื่อปี 1917 มาอยู่ที่ฝรั่งเศส ดวงการเดินทางของ Elliott Erwitt คงแรงมาก ทำให้ต้องย้ายไปนู่นนี่หลายครั้ง หลังจากเขาเกิดไม่นานครอบครัวก็ย้ายไปอยู่มิลานต่อมาในปี 1930 ลัทธิฟาสซิสเถลิงอำนาจขึ้นในอิตาลี ทำให้ต้องหลบหนีภัยกลับไปยังฝรั่งเศสบ้านเกิด ไม่นานภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ก่อตัวขึ้น ฝรั่งเศสการประกาศสงครามต่อจักรวรรดินาซี ทำให้ต้องอพยพหลบหนีไปอเมริกาอีกทอดตลอดช่วงชีวิตของ Erwitt ก็ต้องตระเวณถ่ายภาพทั่วโลกจนเรียกได้ว่าไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง - Elliott Erwitt นี่แหละชีพจรลงเท้าตัวจริง

   
 
เมื่อมาถึงอเมริกาเขาได้เปลี่ยนชื่อจาก Elio Romano Erwitz เป็น Elliott Erwitt ตอนนั้นเขาอายุ 11 ปี การที่ต้องอพยพไปในหลายๆประเทศทำให้เขาสามารถพูดได้หลายภาษา ทั้งอิตาลี ฝรั่งเศส อังกฤษ สองปีต่อมาหลังจากที่พ่อของเขาแยกทางเดินกับภรรยา และพา Erwitt ออกเดินทางอีกครั้ง คราวนี้เขาและพ่อมุ่งหน้าไปตั้งหลักปักฐานยังฮอลลีวู้ด
 
ที่นี่เขาหาเงินพิเศษหลังเลิกเรียนจากการทำงานในห้องมืด และพิมพ์ภาพให้กับดาราหนังต่างๆ นั่นทำให้เขาเริ่มที่จะสนใจการถ่ายภาพ และเขาได้ซื้อกล้องถูกๆยี่ห้อ Argus เพื่อหัดถ่ายภาพ จนกระทั่งอายุได้ 21 ปี เขาตัดสินใจที่จะเป็นช่างภาพอาชีพให้ได้ Elliott มุ่งหน้าไปยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของช่างภาพสตรีทนั่นก็คือ New York และด้วยความมุ่งมั่นอันแรงกล้าบวกกับโชค ทำให้เขาได้ทำงานกับเอเจนซีภาพถ่ายแห่งหนึ่ง โชคดีของเขายังไม่หยุดแต่เพียงเท่านั้น เขายังได้พบกับ Robert Capa ช่างภาพสงครามที่กำลังโด่งดัง และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง magnumphotos อาจเพราะ Capa และ Erwitt เป็นเด็กอพยพชาวยุโรปเหมือนกัน Capa จึงรู้สึกถูกชะตากับเด็กหนุ่มคนนี้ เลยให้งานเล็กๆน้อยๆกับ Erwitt รวมถึงบาง Assignment ด้วย


Robert Capa (October 22, 1913 – May 25, 1954)
 
ไม่นานสงครามเกาหลีก็ระเบิดขึ้น Erwitt ถูกเรียกตัวไปประจำการ การเกณฑ์ไปครั้งนี้ไม่แน่ว่าเขาจะได้กลับมาหรือไม่ Erwitt ยอมรับโชคชะตาที่เขาไม่ได้ก่อ แต่พระเจ้าคงรู้อะไรบางอย่างในตัวเด็กหนุ่มคนนี้ จึงประทานโชคสองข้อมาชดเชยกัน Capa สัญญาไว้ว่าเมื่อ Erwitt กลับมาจะมีตำแหน่งใน Magnumphotos ให้ นับเป็นโชคข้อแรก ข้อที่สอง เขาไม่ถูกส่งไปรบแนวหน้าในสงคราม แต่กลับไปรับงานผู้ช่วยถ่ายภาพชีวิตความเป็นอยู่ของทหารในฝรั่งเศสแทน มิหนำซ้ำงานของเขายังได้เข้าประกวดช่างภาพรุ่นใหม่ของ Life Magazine และคว้าอันดับสองไปครอง
 
หลังจากกลับมาจากสงคราม Erwitt ทำงานเต็มตัวกับ Magnumphotos รับ Assignment หลากหลายทั้งถ่ายภาพคนดัง งานแฟชัน ประธานาธิบดีริชาร์ด นิคสัน เชกูวารา พระสันตปาปา เขาเดินทางถ่ายภาพด้วยกล้องสองตัว ตัวหนึ่งสำหรับงาน Assignment อีกตัวคือ Leica เพื่อถ่ายภาพ Snap ในปี 1970 เขาเปลี่ยนแนวทางจากการถ่ายภาพนิ่งเป็นการถ่ายภาพยนตร์สารคดีให้กับ HBO และยี่สิบปีต่อมาเขาก็กลับมาหาแนวทางดั้งเดิมคือการถ่ายภาพนิ่ง Erwitt มีผลงานน่าสนใจมากมาย เช่น การถ่ายภาพสุนัข และภาพสตรีท (หรือที่เขาเรียกว่า Snap) ที่อบอวลไปด้วยอารมณ์ขันและเสียงหัวเราะ รวมถึงผลงานกระแทกแดกดันที่สื่อให้เห็นถึงการเหยียดสีผิวในอเมริกา

 


Erwitt เป็นช่างภาพที่คนถ่อมตัวอย่างมาก มักจะบอกว่าตนเองเป็นมือสมัครเล่นอยู่เสมอๆ และเป็นคนง่ายๆ ไม่แบกอุปกรณ์มากมายออกไปถ่ายภาพ เวลาที่เขาทำงานเขาจะหลบเลี่ยงความวุ่นวาย และออกไปถ่ายภาพคนเดียวบ่อยๆ ภาพถ่ายของเขาจะเป็นแนว Snap (หรือที่คนอื่นสังเกตุว่าเป็น Street Photography) แม้ตอนได้รับ Assignment ภาพก็จะออกมาแบบไม่เป็นทางการ มีสเน่ห์ และคมคายยิ่ง 
 
มีเรื่องน่าแปลกอย่างหนึ่งที่ Erwitt ถูกขนานนามว่า "anti-Cartier-Bresson" (ผู้ต่อต้าน HCB) หรือ "the master of the indecisive moment" (ปรมาจารย์ในการไม่การตัดสินใจในเสี้ยววินาที) ทั้งที่ภาพส่วนใหญ่ของเขาเต็มไปด้วย The Decisive Moment อาจเพราะเขาเชื่อว่า "การถ่ายภาพนั้นง่าย แต่การที่จะได้ภาพที่คุ้มค่า ต้องอาศัยสายตาที่เฉียบคม"  ผู้เขียนเองคิดว่าทั้งสองคนนั้นพูดถูกทั้งคู่นั่นแหละครับ แต่เป็นการพูดกันคนละมุมเท่านั้นเอง





 
หลายคนมักจะตีความภาพถ่ายของเขาไปในทางการเมืองหรือวิภากษ์สังคม อันที่จริงเขาแค่ถ่ายทอดออกมาตามความรู้สึกที่ออกมาจาก "การตระหนักรู้ และรับผิดชอบต่อสังคม" และ "ความเห็นอกเห็นใจ" เช่น เรื่องการเหยียดสีผิว ในปี 1950 หรือเมื่อครั้งเหตุการณ์ 9/11 แทนที่เขาจะออกไปเก็บภาพวินาทีที่ตึกเวิร์ดเทรดถล่ม หรือความโกลาหล เหมือนกับช่างภาพอื่นๆที่หิวกระหายภาพเหล่านี้ Erwitt เลือกที่จะทิ้งกล้องไว้ที่อาร์พาร์ทเมนต์ และออกไปบริจาคเลือดแทน 
 
Erwitt เป็นคนหนึ่งที่ต่อต้านการใช้ Digital Post-Processing หรือรีทัชภาพ โดยเขากล่าวว่า เขาต่อต้านเรื่องนี้อย่างรุนแรง เพราะมันทำให้เกิดความผิดเพี้ยนจากเจตนาดั้งเดิมของการถ่ายภาพ และเขายังคงถ่ายภาพโดยใช้ฟิล์มขาวดำเช่นเดิม 
 
Elliot Erwitt อธิบายภาพถ่ายของเขาแบบกวนๆว่า
"มันมีแค่ในภาพนั่นแหละ ไม่ต้องมองหาอะไรอีก ทุกอย่างอยู่ในนั้นหมดแล้ว" 

 

by Akkara Naktamna 
August 29, 2012

© 2012 - 2024 Street Photo Thailand