Street Photo Thailand HOME PHOTOGRAPHERS LEGENDS NEWS ARTICLES FEATURED PROJECTS SUBMISSION SPTEP ABOUT CONTACT
On the Daidō Moriyama's Road
Posted by Akkara Naktamna - Nov 29, 2015 11:47


นับตั้งแต่กลุ่ม IN-PUBLIC (IP) ก่อตั้งมาเมื่อปี 2000 เหมือนมีมือยักษ์มากวาดกระแสการถ่ายภาพแนว street photography ให้กระเด็นกระดอนไปทางฝากฝั่งยุโรป ด้วยแนวภาพที่ สะอาด-ฉลาด-ขบขัน ซึ่งถ้าดูเผินๆเหมือนช่างภาพ IP ก็จะมีสไตล์ของแต่ละคน แต่หากลองเขยิบถอยออกมาซักสองสามก้าวแล้วมองกลับเข้าไปใหม่ ช่างภาพ IP โดยส่วนใหญ่จะมีลักษณะร่วมคือ "สะอาด-ฉลาด" เป็นหลัก และมี "ความขบขันชนิดเหน็บแนม" เจือจางอยู่ ซึ่งถือว่าเป็นอัตลักษณ์และ "นิสัย" ของฝรั่งตาน้ำข้าวโดยแท้
 
ช่างภาพ street หลายต่อหลายคน จ้องมองไปยัง IP ด้วยสายตาที่ชื่นชมและฝันว่าซักวันจะเห็นชื่อตัวเองไปประดับอยู่ในนั้น ช่างภาพในกลุ่ม IP ถือเป็นแรงบันดาลใจให้หลายๆคน (รวมถึงผมด้วย) ให้หันมาถ่ายภาพ street  อาทิเช่น Nick Turpin, Matt Stuart, Nils Joregnsen, David Gibson เราจะเห็นว่าทุกวันนี้มีกลุ่มต่างๆเกิดขึ้นมากมาย (รวมถึง Street Photo Thailand) ที่มีแนวทางการถ่ายภาพไม่แตกต่างจาก IP นัก อาจเรียกได้ว่าได้รับอธิพลมากันมาเต็มๆ
 
ช่างภาพ street รุ่นใหม่บนโลกใบนี้กำลังถ่ายภาพตาม IP กันแทบทั้งนั้น ?
ไม่ใช่ทั้งหมด แต่ก็มีส่วนจริงอยู่ไม่น้อย บางคนอาจจะบอกว่าไม่รู้จัก IP แต่ก็หารู้ไม่ว่า ภาพ street ที่คนเหล่านั้นยึดเป็นแรงบันดาลใจก็อาจจะได้รับอิทธิพลจาก IP มาอีกทอดหนึ่ง ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดแต่อย่างใด เพราะที่จริงหลายๆเรื่องเราก็ได้รับมาจากยุโรป-อเมริกาอยู่แล้วไม่ว่าจะวัฒนธรรม การใช้ชีวิต และแนวคิดบางประการ (แม้แต่ช่างภาพที่กำลังจะพูดถึงนี้) การรับสิ่งต่างๆมาเพื่อพัฒนาต่อถือเป็นเรื่องดี ไม่ผิด แต่ Street Photography ไม่ได้มีแนวทางเดียว ไม่ได้มีแค่ "สะอาด-ฉลาด-ขบขัน" เท่านั้น มีสิ่งต่างๆอีกมากมายที่น่าสนใจและน่าพูดถึง บทความนี้ผมจะพาว่ายออกจาก street photography กระแสหลัก และมุดเข้าไปยังบ่อน้ำอันลึกลับดำมืดของช่างภาพ street สายดาร์คชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งที่มีชื่อว่า Daido Moriyama (ไดโด โมริยามา)


 
Moriyama เกิดที่โอซาก้าปี 1938 ลูกชายของพนักงานขายประกัน จริงๆเขาเกิดมาพร้อมกับฝาแฝดของเขา แต่แฝดของเขาเสียชีวิตไปเมื่ออายุได้ 2 ขวบ เขาถูกเอาไปฝากเลี้ยงกับปู่ก้บย่าที่เมืองอิเคดะ จังหวัดฮิโรชิมา เมืองชายทะเลแห่งนี้คือความทรงจำวัยเด็กของโมริยามา เขามักจะอ้างถึงชีวิตวัยเด็กที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่เสมอๆ และอีกสถานที่หนึ่งคือ เมือง อุระวะ จังหวัดไซตามะ เขามักจะพูดถึงช็อคโกแลตและหมากฝรั่งที่ทหาร GI บนรถ Jeep โยนมาให้ เป็นภาพจำวัยเด็กของเขาช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
 
ก่อนที่ Moriyama จะสนใจการถ่ายภาพ เขาเปิดสตูดิโอด้าน Graphic Design ซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จพอสมควร วันหนึ่งเขาไปรับภาพถ่ายที่สตูดิโอของช่างภาพ Moriyama ชอบบรรยากาศที่นั่นมาก เขาบอกว่ามันดูเหมือนมีพลังงานไหลเวียนอยู่ตลอดเวลา กระฉับกระเฉง ทำให้เขาเริ่มหลงใหลโลกของการถ่ายภาพมากขึ้น 
 
พออายุได้ 20 กว่าๆ Moriyama ย้ายมาอยู่ที่โตเกียว ได้ทำงานเป็นผู้ช่วยช่างภาพข่าวชื่อดัง Shomei Tomatsu โตเกียวในตอนนั้นพูดได้ว่าถูกยึดครองโดยอเมริกาผู้ชนะสงคราม Shomei และคนในรุ่นเดียวกันนั้น ได้รับบาดแผลและผลพวงจากสงคราม พวกเขามองอเมริกาเป็นเหมือนผู้รุกรานและเข้ามาทำลายวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ผิดกับ Moriyama ที่อายุห่างจาก Shomei เป็นสิบปี และดูไม่อินกับความรู้สึกร่วมนั้นเท่าไหร่ เขารู้สึกถึงความตื่นเต้นที่ได้เห็นการปะทะกันของสองวัฒนธรรมมากกว่า 
 
"พวกเราเห็นการมิกซ์กันระหว่างญี่ปุ่นกันยุโรป ซึ่งผมยอมรับมันนะ มีฐานทัพอเมริกาอยู่ใกล้บ้านที่ผมเกิด สงครามเกาหลีก็เกิดขึ้นแล้ว ผมเห็นเครื่องบินรบบินขึ่นลงจนเป็นเรื่องปกติ การได้เห็นในบาร์มีพวกนักบินอเมริกากับสาวๆญี่ปุ่น ผมว่ามันน่าตื่นตาตื่นใจดี" 
 
หนังสือภาพถ่ายเล่มหนึ่งที่เป็นเหมือนเชื้อปะทุให้กับ Daido คือ "Life is Good and Good For You in New York" ของ William Klein 


(ภาพในหนังสือ Life is Good and Good For You in New York)
 
"ภาพถ่ายในหนังสือนั่นมันช็อคผมเลยนะ ทำให้ผมเห็นถึงพลังของการถ่ายภาพ มันง่ายๆอย่างนั้นแหละ
ก็แค่ออกไปถ่ายภาพบนตามท้องถนนแล้วก็คิดว่า เขา (William Klein) ถ่ายแบบนั้นได้ยังไง" 
 
Photo Book เล่มแรกของเขามีชื่อว่า Japan, a Photo Theater ถือว่าเป็นการประทับลายเซ็นต์ของ Daido Moriyama ไว้ในวงการภาพถ่ายเลยก็ว่าได้ ด้วยสไตล์ภาพขาวดำ เกรนหนักหน่วง คอนทราสจัด แต่ละภาพดู วิกล พิลึกพิลั่น มุ่งเน้นไปยังภาพ portrait ของพวกระบำเปลื้องผ้า นักแสดงในสถานเริงรมย์ของกรุงโตเกียว สไตล์ภาพถ่ายเดินตามรอย William Klein แต่ดูเข้มข้นยิ่งกว่า
 
งานถัดมาของ Moriyama ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือ On the Road ของ Jack Kerouac ที่เล่าเรื่องการเดินทางข้ามอเมริกาของ Kerouac ชื่อโปรเจคเดียวกับชื่อหนังสือคือ "On the Road" Moriyama ออกเดินทางไปตามถนน Hi-way ของญี่ปุ่นและสร้างชุดภาพถ่ายตามแต่ละสถานที่ที่ไป เป็นการตอกย้ำใจความของหนังสือที่ว่า 'ระหว่างทาง สำคัญเท่ากับ จุดหมายปลายทาง' 
 
"...แต่ละวลีในหนังสือ เปรียบได้กับหนึ่งช็อต ... การเล่าเรื่องเคลื่อนไหวตลอดเวลา แสวงหาสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในห้วงเวลาเดียวกัน" 
 
ผลลัพท์ของการเดินทางครั้งนั้นผลักดันให้การถ่ายภาพของ Moriyama เป็นแนวนามธรรม (abstract) มากขึ้น ทั้งภาพของถนนที่เต็มไปด้วยฝน ที่จอดรถที่รกร้างว่างเปล่า และซากโรงแรมที่ถูกทำลายร้างด้วยพิษของสงคราม ภาพใน On the Road ถ่ายทอดภาพของญี่ปุ่นที่ถูกทำลาย ภาพเงาดำของมนุษย์ที่เหมือนจะละลายหายไปในฉากหลังดำมืด หลายภาพดูเบลอแบบจงใจ Moriyama มีความสามารถพิเศษบางอย่างในการสร้างแรงกดดัน และความกระอักกระอ่วนให้ทะลุออกมาจากภาพถ่ายของเขา

 
"สำหรับผม อะไรที่ผมรู้สึกตอนกดชัตเตอร์ มันสำคัญมากกว่าเทคนิคการถ่ายภาพนัก ถ้าภาพมันสั่นก็โอเคนะ ถึงจะหลุดโฟกัสก็ยังโอเค ความชัดเจนมันไม่ใช่ทั้งหมดของการถ่ายภาพหรอก" ...
 
"ถ้าดูภาพแล้วอาจจะเหมือนกับผมถ่ายอะไรก็ได้ที่ผ่านหน้ากล้องมา แต่จริงๆผมพยายามจะถ่ายสิ่งที่ดูลึกลับที่ผู้คนเหล่านั้นเห็นอยู่ทุกวัน แต่ไม่มีใครสนใจหรือแม้แต่จะหันมามอง"
 
ช่วงปลายยุค 60 สถานการณ์การเมืองในญี่ปุ่นกำลังร้อนแรง Moriyama เข้าร่วมกับกลุ่มช่างภาพปีกซ้ายที่ชื่อว่า Provoke "ญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงไปไวมาก พวกเราจึงอยากจะสะท้อนมันออกมาผ่านงานภาพถ่าย" หนังสือชื่อ Farewell Photography ในปี 1972 คือผลของความพยายามนี้ Moriyama ให้คำจำกัดความว่า Destroy Photography เขาส่งฟิล์มที่ถูกทำให้เสียหายให้ สนพ. แล้วบอกให้พวกเขาพิมพ์มันออกมาอย่างที่เขาตั้งใจ 
 
"ช่วงนั้นผมผิดหวังกับทุกๆสิ่ง โดยเฉพาะยิ่งงานของผมเอง เหมือนมีความหงุดหงิดล่องลอยอยู่ในอากาศตลอดเวลา ผมเลยคิดประมาณว่า งั้นก็ทำให้ภาพถ่ายมันแตกออกมาเป็นเสี่ยงๆเลยละกัน"
 
ผลลัพท์ที่ได้ออกมาเป็นหนังสือภาพถ่ายที่สวยงามและสุดแสนจะ abstract คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจมัน เพราะเต็มไปด้วยภาพถ่ายที่ดูไม่ออกว่าเป็นอะไร เบลอ เต็มไปด้วยรอยตำหนิในภาพ และแม้ในปัจจุบันหนังสือเล่มนี้จะได้รับการยกย่องว่าเป็นงานคลาสสิค แต่สำหรับ Moriyama เอง ไปๆมาๆก็ไม่ค่อยชอบใจนัก


 
 
"ไม่ค่อยมีใครเข้าใจภาพในหนังสือเท่าไหร่ ซึ่งมันก็ใช่แล้วล่ะ ก็ผมตั้งใจให้มันเป็นอย่างนั้น แต่ผมกลับพบว่าผมกล่าวลากับการถ่ายภาพไปแล้ว (Farewell Photography) ผมเลยไม่มีอะไรจะทำ (ฮา) ปีถัดมาผมเลยเริ่มงานชิ้นใหม่ ที่แตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ด้วยการถ่ายภาพสิ่งที่เหมือนเป็น DNA ของความเป็นญี่ปุ่น ที่คุณอาจเห็นได้ในโปสการ์ด แต่ผมถ่ายมันแบบดาร์คสุดๆไปเลย"
 
ตั้งแต่นั้นมา งานของ Moriyama มีความคลาสิค ดูสละสลวยและเหนือจริงมากยิ่งขึ้น บ่อยครั้งเป็นภาพนู้ดที่แสดงถึงสัดส่วนที่สวยงามของสตรีเพศ ซึ่งทำให้งานของ Moriyama ได้ร่วมเดินทางอยู่บนขบวนรถไฟสาย "การถ่ายภาพสมัยใหม่" ที่เข้าครอบครองพื้นที่ของศิลปะการถ่ายภาพในขณะนั้น 


 
 
แม้ว่านักวิจารณ์ศิลปะจะมองว่างานของ Moriyama จะมีความเป็นตะวันตกค่อนข้างมาก แม้กระทั่งตัวเขาเองก็มักจะอ้างถึง William Klein และ Jack Kerouac ว่าเป็นแรงบันดาลใจอยู่เนืองๆ แต่หากลองพลิกหนังสือภาพและพิจารณาอย่างถี่ถ้วน งานของ Moriyama มีอารมณ์คล้ายคลึงกับภาพพิมพ์แกะไมัของญี่ปุ่น (Woodblock Printing) ทั้งการวางองค์ประกอบภาพ การใช้เกรน รวมถึงวิธีการนำเสนอภาพบุคคลที่ใกล้เคียงกับมุ่งร้ายกลายๆ
 
"มีบางอย่างในงานของผมที่ดูพื้นถิ่นมากๆ ราวกับมีกลิ่นของญี่ปุ่นล่องลอยออกมาจากงานเหล่านั้น ซึ่งถ้าชำเลืองมองแบบผ่านๆ มันคืองานสไตล์อเมริกัน แต่จริงๆมันมีวิถีความเชื่อดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่เจือปนอยู่โดยที่ผมไม่เคยรู้ตัวเลยด้วยซ้ำ"
 
ทุกวันนี้ Daido Moriyama ก็ยังคงถ่ายภาพอยู่  เขาสร้างงานชิ้นใหม่ๆออกมามากมาย ปล่อยหนังสือภาพออกมาหลายต่อหลายเล่ม สร้างชื่อเสียงรวมถึงได้รับคำยกย่องทั้งใน New York และที่ญี่ปุ่น Moriyama ก็ยังไม่หยุดถ่ายภาพ เขาพกกล้องดิจิตอล เดินตะลุยถ่ายภาพริมท้องถนนในย่านชินจูกุ ที่ที่เขาเริ่มต้นถ่ายภาพ 
 
มีคนเคยถาม Daido Moriyama ว่า 
อะไรที่คุณกำลังค้นหา ที่พอจะกระตุ้นต่อมความสนใจของคุณ?
 
เขาตอบกลับมาว่า
"ผมไม่เคยรู้สึกสนใจสถานที่ที่ถูกสุขอนามัยเท่าไหร่นักหรอก ... ผมชอบที่จะสัมผัสแหล่งสกปรกโสมมมากกว่า" 



ปล. มี Clip มากมายเกี่ยวกับ Daido Moriyama ใน Youtube ลองหากันดูนะครับ :)
Akkara Naktamna 

Illustration Reference : www.achtung.photography
 

© 2012 - 2024 Street Photo Thailand