Street Photo Thailand HOME PHOTOGRAPHERS LEGENDS NEWS ARTICLES FEATURED PROJECTS SUBMISSION SPTEP ABOUT CONTACT
How to shoot on street? การเปรียบเทียบ
Posted by Akkara Naktamna - Nov 02, 2012 08:52
ปัญหาหนึ่งของการถ่ายภาพ Street คือ เมื่อเราออกเดินไปตามท้องถนนหรือสถานที่ต่างๆเพื่อเสาะหาภาพแนวๆไปอวดเพื่อน เรามักหาภาพแนวๆเหล่านั้นไม่ค่อยเจอ ที่ได้มาก็ดูจะเป็นภาพธรรมดาทั่วไปชนิดอาสะไภ้ที่บ้านก็ถ่ายได้ ตัวอย่างเช่น คนเดินไปเดินมาแบบเดินสองขาทั่วไป ขอทานริมถนนกับสภาพที่น่าสลดสงสาร แม่ค้าผัดคะน้าหมูกรอบหรือนกกระจอกเกาะบนสายไฟฟ้า
 
ผมคงไม่บอกว่ารูปภาพเหล่านี้ไร้คุณค่าหรือไม่ได้เป็นภาพแนว Street Photography แน่นอนครับภาพถ่ายเหล่านี้เป็น Street Photography อย่างไม่ต้องสงสัยเพราะ Street  Photography คือการถ่ายภาพริมถนนรวมถึงสถานที่สาธารณะต่างๆที่เราสามารถพกกล้องเข้าไปเดินถ่ายภาพแบบชิลๆได้ ไม่ว่าจะเป็นหอศิลป์ฯ สวนสันติชัยปราการ ปากคลองตลาด หัวลำโพง หรือที่อื่นใดที่เขาให้ถ่ายรูปโดยไม่มีคุณพี่ ร.ป.ภ. มาเป่านกหวีดไล่ ให้เป็นที่อนาถใจแก่ผู้พบเห็น
 
แม้ว่าภาพถ่าย Street Photography เหล่านั้นจะเปรียบเสมือนการบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสังคม มีความดิบ ไม่มีการแต่งแต้มเกินจริง รวมถึงมีคุณค่าในแบบของมัน แต่ในความเห็นของผม ภาพถ่าย Street Photography ควรจะมีความน่าสนใจมากกว่าภาพของป้าผัดคะน้าหมูกรอบ หรือภาพนกกระจอกบนสายไฟฟ้า ต้องน่าดึงดูดให้ใครต่อใครหยุดดูโดยที่ไม่คลิ๊กผ่านไปด้วยความเร็ว 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

แล้วที่น่าสนใจมันเป็นยังไง
 
ผมมีข้อสังเกตประการหนึ่งคือภาพถ่ายที่น่าสนใจมักจะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งในสองข้อนี้ หรือเป็นทั้งสองข้อพร้อมๆกัน
1. องค์ประกอบศิลป์
2. เรื่องราว



อธิบายสัั้นๆ เราเห็นภาพสีสวย แสงเงาดี เรียกว่าดูแล้วสุขนัยน์ตาทั้งที่ยังไม่รู้เลยว่าผู้ถ่ายภาพต้องการสื่ออะไร
อย่างนี้เรียกว่า น่าสนใจเพราะองค์ประกอบศิลป์



แต่หากเรามองภาพหนึ่งแล้วอึ้งเพราะเรื่องราวในภาพสื่อให้เราเกิดความรู้สึกต่างๆนานา เศร้าโศกเสียใจ ความฮึกเหิม หรือจะตลกขบขัน ดังเช่น เวบไซต์แห่งหนึ่งที่ให้คนส่งภาพถ่ายที่เกิดจากความผิดพลาดในชีวิตประจำวันเข้ามาแชร์กัน โดยที่ภาพเหล่านั้นส่วนใหญ่มักขาดความสวยงามทางองค์ประกอบศิลป์แต่เรื่องราวในภาพแทบทุกภาพทำให้เราหัวเราะจนท้องคัดท้องแข็งจนต้องยกนิ้วให้กับความช่างสังเกตและอารมณ์ขันอันบรรเจิดของผู้ถ่ายภาพ
อย่างนี้เรียกว่า น่าสนใจเพราะเรื่องราว
 
ภาพถ่าย Street Photography ก็เหมือนกับการถ่ายภาพแนวอื่นๆที่จะต้องประกอบด้วยทั้งสองอย่างนี้เสมอ หากเราสามารถนำเอาทั้งสองสิ่งมาคลุกเคล้าเข้าด้วยกันทั้งความสวยงามด้านองค์ประกอบศิลป์และความลึกล้ำทางด้านเรื่องราว ภาพถ่ายนั้นก็จะเป็นภาพถ่ายที่น่าสนใจ ดึงดูดผู้คนให้หยุดดูและหันมาพิจารณาภาพถ่ายของเรามากขึ้น

หากเรามาเริ่มต้นกันด้วยองค์ประกอบศิลป์ที่ว่าด้วยเรื่องการจัดองค์ประกอบ การเลือกสี แสงเงา เส้นสาย รูปร่าง รูปทรง ฯลฯ คงจะต้องมานั่งถกกันยาว ลุกไปชงกาแฟ โอวัลติน หรือต้มมาม่ามานั่งกินแกล้มไปได้เลย แต่หากจะหันมาเอาดีด้านเรื่องราวก็ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน ก็แหม เรื่องราวข้างถนนมันเยอะแยะตาแป๊ะไก่ จับจุดไม่ถูก ไม่รู้ว่าจะถ่ายอะไร ถ่ายไปถ่ายมาเดี๋ยวก็ไปเจอคะน้าหมูกรอบเข้าให้อีก

แล้วอย่างนี้จะถ่ายอะไรดี?
เวลาผมออกไปเดินถ่ายภาพผมจะไม่สังเกตทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นหรอกนะครับเพราะในเวลาเดียวกันมีเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้นมากมาย เรียกว่าเกินกำลังโสตประสาทของคนหน้าตาธรรมดาจะรับไหว แต่เราจะต้องสังเกตหาสิ่งที่สะดุดตาและคิดว่ามันน่าจะเกิดเป็น “เรื่องราว” ได้ และเทคนิคสำคัญที่อยากจะนำเสนอในตอนนี้คือ 
 
การเปรียบเทียบ
ผมคงไม่ต้องอธิบายอะไรมากมายเกี่ยวกับเรื่องการเปรียบเทียบ ทุกคนน่าจะเปรียบเทียบกันเป็นมาตั้งแต่ก่อนเข้าอนุบาลหนึ่ง และในชีวิตประจำวันของเราก็ได้เปรียบเทียบสิ่งต่างๆมากมายตั้งแต่การเลือกซื้อกาแฟว่าจะคาปูชิโน เอ็กเพรสโซ หรีือจะเขาทะลุ สาวคนนั้นสวยกว่าคนนี้ หนุ่มคนนี้สวยกว่าสาวคนนั้น!!??

การเปรียบเทียบจึงถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินชีวิตเรียกว่าขาดไม่ได้ ยิ่งกว่าการเมนต์เฟสบุ๊คซะอีก ช่างภาพ Street Photography จึงหยิบยืมความสามารถพื้นฐานข้อนี้มาสร้างสรรค์ผลงานออกมาเป็นภาพถ่ายที่แฝงไปด้วยความสนุกสนาน เรียกเสียงขบขัน และบางครั้งก็กระทบกระแทกแดกดันสังคมที่เป็นอยู่รอบๆตัวเรา การเปรียบเทียบนี้อาจเรียกได้อีกอย่างหนึ่งคือ Juxtaposed แปลว่า เอามาวางข้างๆกัน ซึ่งก็ตรงกับความหมายของการเปรียบเทียบนั่นเอง

แล้วจะเปรียบเทียบอะไรกับอะไร?
เป็นคำถามที่ผมเคยคิดเหมือนกันว่า เวลาจะถ่ายภาพเรื่องการเปรียบเทียบนี่จะต้องถ่ายอะไรเปรียบเทียบกับอะไร แล้วเรื่องราวต้องเป็นประมาณไหน เลยทดลองถ่ายไปเรื่อย ผิดบ้าง ถูกบ้าง เมื่อยขาบ้าง (เดินไกลไปหน่อย) จนพบคำตอบประการหนึ่งว่า ถ้าคิดจะเปรียบเทียบแล้วให้มันได้เรื่องราวคุณต้องเชื่อมมันเข้าด้วยกัน ทำให้เป็นเรื่องเดียวกันแม้ของทั้งสองสิ่งจะอยู่คนละไฟลั่มก็ตาม

ยกตัวอย่างเช่น คุณเห็นเป็ดเดินมา หากคุณคิดจะถ่ายเป็ดเพียงตัวเดียวก็ย่อมได้ แต่คุณก็จะได้ภาพ Street ที่มีแต่เป็ดหนึ่งตัวไม่มีอะไรไปมากกว่านั้น เรียกว่า Street แบบเป็ดๆ แต่หากมีคนเดินเข้ามาด้วยอีกคนเราก็อาจจะพอเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคนกับเป็ดตัวนี้ได้ แต่ความเชื่อมโยงนั้นๆควรต้องเด่นชัดพอสมควรเพราะหากความหมายของภาพคลุมเครือ คนที่มาดูภาพก็จะไม่เข้าใจว่าเราต้องการสื่ออะไร กลับคิดว่าภาพมันดูธรรมดาไม่เห็นแปลกอะไร (คนกับเป็ด แล้วไงต่อ น้าเขาชื่อเป็ดเหรอฮะ) ขอยกตัวอย่างความเด่นชัดที่สำคัญๆที่ควรจะนำมาเปรียบเทียบในการถ่ายภาพ Street Photography ดังนี้ครับ


 
1. ขนาด 
ดูจะเป็นสิ่งที่สังเกตง่ายที่สุดแล้วสำหรับการเปรียบเทียบขนาดของของสองสิ่ง สำหรับการถ่ายภาพ Street ควรเปรียบเทียบของขนาดเล็กกับขนาดใหญ่ ยิ่งต่างกันเท่าไหร่ยิ่งดี และหากทั้งสองสิ่งกำลังทำพฤติกรรมเหมือนกัน เช่น กำลังเดิน กำลังวิ่ง กำลังเต้นอารบิค ฯลฯ ภาพนั้นจะดูน่าสนใจมากขึ้น


 



2. รูปทรง
หากเราหาขนาดที่ต่างกันไม่ได้ การเปรียบเทียบในระนาบเดียวกันไม่ได้เป็นข้อห้ามใน Street Photography อย่างการเปรียบเทียบเรื่องรูปทรงของสิ่งต่างๆถือว่าเป็นช็อตที่น่าสนใจและไม่ควรที่จะปล่อยให้หลุดมือไป เช่น คนศีรษะล้านกับหลอดไฟ คนรูปร่างอ้วนกับอะไรที่กลมๆ หรือทรงผมอัฟโฟรกับพุ่มไม้ทรงกลม การเปรียบเทียบเรื่องรูปทรงควรเปรียบเทียบกับสิ่งที่ต่างชนิดกันนะครับ เช่น มนุษย์กับสิ่งของ สิ่งของกับสัตว์เป็นต้น เพราะหากเปรียบเทียบกับพวกเดียวกันมันออกจะดูธรรมดาไปสักหน่อย





 
3. สี
ถ้าไปเจอะเข้ากับการเปรียบเทียบเรื่องสี ถือว่าคุณกำลังมีโชคให้รีบไปซื้อหวยโดยด่วนเพราะการเหมือนกันของสีต้องใช้ความช่างสังเกตและโชคอยู่พอสมควร เพราะส่วนใหญ่เราจะเจอแต่สีที่อยู่โดดๆ หรือสีที่หลากหลายตามจำนวนสิ่งที่อยู่ในเฟรม เทคนิคสำคัญคือเราต้องหาสีแรกเป็นหลัก เช่น หากเราไปเจอไฟจราจรสีแดง ให้เราหยุดรอจังหวะไว้ก่อน วัดแสง จัดองค์ประกอบ แล้วรอให้คนใส่เสื้อแดงเดินผ่านเข้ามา พร้อมทั้งภาวนาอย่าให้เขาเปลี่ยนใจเดินกลับไป หรือไฟจราจรอย่าเพิ่งเปลี่ยนกลับไปเป็นสีเขียว


 


Photograph by Nils Jorgensen

4. กิจกรรม
ภาพ Street Photography ส่วนมากจะเป็นภาพของการทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในสถานที่ต่างๆ หรือการแสดงท่าทางของคนเรา ไม่ว่าจะเป็นการนั่ง การนอน การเดิน การหาว ผมเคยเห็นภาพของช่างภาพ Street คนหนึ่งซึ่งจับภาพของคนที่กำลังหาวพร้อมกันได้อย่างน่าเหลือเชื่อ หรือภาพความพอดิบพอดีของขาคนที่กำลังก้าวเดินไปพร้อมๆกับขานกพิราบ (สองภาพนี้มีอยู่ในหนังสือชื่อ Street Photography Now) การถ่ายภาพเหล่านี้ต้องแสวงหารูปแบบของความซ้ำ (Pattern) ซึ่งต้องอาศัยการรอคอย การจับจังหวะ โดยที่ความเหมือนอาจเป็นตั้งแต่สองสิ่งขึ้นไป จนถึงความเหมือนกันของหลายๆสิ่ง

 



5. สร้างเรื่องใหม่
สำหรับหัวข้อนี้อาจต้องใช้จินตนาการกันอยู่สักหน่อยเพราะเราสามารถนำสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลยมาเปรียบเทียบกันแล้วสร้างเรื่องใหม่ขึ้นมาจากสิ่งนั้นๆ เราเองเพียงแค่คิดนำไปแล้วปล่อยให้คนดูภาพจินตนาการต่อเอง ตัวอย่างเช่น ภาพของคนๆหนึ่งกำลังทำท่าลูบปากโดยข้างๆกันมีป้ายห้ามสูบบุหรี่ คนที่มีประสบการณ์ทางโลกอยู่บ้างจะต้องจินตนาการไปว่าคนๆนี้กำลังอยากบุหรี่อยู่แน่ๆ ทั้งที่ความเป็นจริงพี่เขาอาจเป็นคนเข้าวัดทุกวันอาทิตย์ เหล้าไม่กิน บุหรี่ไม่สูบ หรืออาจกำลังหิวข้าวมันไก่อยู่ก็เป็นได้ 

 
การเปรียบเทียบเป็นเพียงส่วนเล็กๆส่วนหนึ่งในการถ่ายภาพ Street Photography ที่แสนจะกว้างขวาง ซึ่งหากเราเข้าใจ และหยิบออกมาใช้ได้เหมือนมันเป็นอุปกรณ์ถ่ายภาพอันหนึ่ง เราก็จะสามารถสร้างสรรค์ภาพถ่ายได้หลากหลาย แรกๆอาจจะติดอยู่กับรูปแบบเดิมๆอยู่บ้าง อย่างการเปรียบเทียบเรื่องขนาด สี หรือรูปทรง แต่นี่เท่ากับเป็นการเรียนรู้ ฝึกฝนมุมมอง และความว่องไวในการคิดเรื่องราวในทันกับเหตุการณ์ที่กำลังผ่านมาและผ่านไปอย่างปัจจุบันทันด่วน เมื่อเราเคยชินกับแนวคิดนี้แล้ว ต่อไปเมื่อไปเจอเหตุการณ์ใดๆที่น่าสนใจเราก็จะสามารถคิดเรื่องราวตามได้ทัน และถ่ายภาพในหัวได้ทันท่วงทีแม้ไม่มีกล้องอยู่ในมือก็ตาม มันเหมือนกับการขี่จักรยานนั่นแหละครับ ถ้าเราขี่จักรยานเป็นแล้วเราจะขี่มันเป็นตลอด ไม่มีวันลืม และสามารถพัฒนาต่อไปจนถึงขี่ปล่อยมือสองข้าง หรือขี่ลอดบ่วงไฟได้ - ทักษะการถ่ายภาพก็เป็นเช่นนั้น


ใช่ว่าอ่านบทความนี้จบหรือไปเปิดภาพถ่ายดูนิดหน่อยแล้วก็จะถ่ายได้ดีจนน่าพอใจ มันไม่ง่ายเหมือนกดไลค์สาวสวยในหน้าเฟซบุ๊คแต่มันก็ไม่ได้ยากเย็นแสนเข็ญเหมือนสร้างจรวดไปสำรวจดาวเนปจูน แต่สิ่งที่เราต้องทำคือ ขยันออกไปถ่ายภาพ หมั่นนั่งดูภาพถ่าย ศึกษาแนวทางของคนอื่นๆ และต้องขอโทษด้วยที่จะบอกว่า “มันอาศัยโชค” ด้วยเหมือนกันกับการได้ภาพดีๆมาสักภาพ และผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าการตั้งใจทำอะไรสักอย่าง ทำบ่อยๆจนเชี่ยวชาญในระดับหนึ่ง โชคมันจะลำเอียงเข้าข้างเราเหมือนกับกรรมการฟุตบอลที่เป่าให้จุดโทษก่อนจะหมดเวลา 
 
จนท้ายที่สุดเราก็จะไม่พึ่งโชคชะตาอีกต่อไป เพราะเราสามารถเลี้ยงลูกเข้าไปยิงประตูได้ด้วยลำแข้งของตัวเราเอง

by Akkara Naktamna
© 2012 - 2024 Street Photo Thailand